
กกร. เสนอ 6 มาตรการ ให้รัฐบาล เตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐอเมริการอบใหม่
ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2568 เสนอ 6 แนวทางให้ภาครัฐและเอกชน เตรียมความพร้อมรับมือทั้งผลกระทบจากทางตรงและทางอ้อมจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐอเมริการอบใหม่ ภายใต้การบริหารงานของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ หรือ “ทรัมป์ 2.0” ประกอบด้ว
- การเจรจาระดับรัฐเพื่อป้องกันและบรรเทาการใช้มาตรการทางการค้าจากสหรัฐฯ รวมทั้งสร้าง ความร่วมมือกับประเทศในอาเซียนเพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจร่วมกัน
- การสนับสนุนในด้านกฎหมาย กฎระเบียบการค้า เพื่อช่วยเหลือภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ
- การบูรณาการเพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมภายในประเทศและการปฏิรูปกฎหมายเพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน
- การใช้มาตรการทางการค้าเพิ่มเติม นอกเหนือจากมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping :AD) ปรับลดระยะเวลาการไต่สวนการใช้มาตรการทางการค้า และการใช้มาตรการควบคุมการนำเข้าตาม พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่ง สินค้า พ.ศ.2522
- การควบคุมการตั้งหรือขยายโรงงาน รวมทั้งการให้การส่งเสริมในอุตสาหกรรมที่มีกำลังการผลิตเกินความต้องการ (Over Capacity) รวมถึงการกำกับดูแลภาคอุตสาหกรรมในเขต Freezone อย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการลักลอบนำสินค้าและวัตถุดิบกลับมาขายในประเทศ
- การส่งเสริมสินค้าที่ผลิตในประเทศ หรือสินค้าที่ได้รับการรับรอง Made in Thailand (MIT) ทั้งการ เพิ่มสัดส่วนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การส่งเสริมขยายตลาดภาคเอกชน รวมทั้งการกำหนดเงื่อนไข การใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศในโครงการรัฐ เช่น การกำหนดการใช้สินค้าไทยในโครงการบ้านเพื่อคนไทย ไม่น้อยกว่า 90% ของมูลค่าโครงการ
ทั้งนี้ภาครัฐควรเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการให้ความเห็นและข้อเสนอแนะในการเตรียมความพร้อมรับมือกับผลกระทบจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ

กกร. เสนอ 6 มาตรการ เพื่อลดแรงกดดันจาก “สงครามการค้า”
โดยที่ประชุมคณะกรรมการ กกร. ระบุว่า สงครามการค้ารอบใหม่เริ่มแล้วที่เม็กซิโก แคนาดา และจีน ท่ามกลางการตอบโต้ โดยสหรัฐฯ ประกาศจะขึ้นอัตราภาษีนำเข้าต่อกลุ่มประเทศเป้าหมาย ทั้งต่อเม็กซิโกและแคนาดาในอัตรา 25% และจีนในอัตรา 10% ซึ่งจะส่งผลลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2568 และจะยิ่งส่งผลกระทบมากขึ้นในปี 2569 นอกจากนี้ ยังผลักดันนโยบายเร่งด่วนผ่านการใช้คำสั่งของฝ่ายบริหาร (Executive Order) รวมถึงนโยบายที่เคยหาเสียงไว้ ครอบคลุมทั้งประเด็นการค้าที่ไม่เป็นธรรม การจัดการคนเข้าเมือง และการถอนตัวจากข้อตกลงปารีส เป็นต้น
ความขัดแย้งทางการค้ากดดันสินค้าจากต่างชาติเข้ามาแย่งตลาดและกระทบต่อภาคการผลิตของไทย สินค้าต่างประเทศที่ล้นตลาดจากปัญหาสงครามการค้าและการแยกขั้ว (De-coupling) ทะลักเข้ามาในประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการผลิตและการจ้างงาน จากการศึกษาผลกระทบดังกล่าวตามข้อเสนอในสมุดปกขาวของ กกร. โดยกระทรวงพาณิชย์ พบว่า กลุ่มสินค้าสำคัญที่ได้รับผลกระทบมาก เช่น เหล็ก พลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องนุ่งห่ม แก้วและกระจก เครื่องสำอาง เป็นต้น
จากแรงกดดันดังกล่าว ที่ประชุมคณะกรรมการ กกร. คาดว่า เศรษฐกิจไทยปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวจำกัด การกีดกันทางการค้าที่รุนแรงและทิศทางค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่องเป็นความท้าทายต่อการส่งออก ส่วนภาคอุตสาหกรรมบางสาขาเผชิญการแข่งขันจากสินค้าต่างชาติ ขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศยังอ่อนแอ จึงจำเป็นอย่างยิ่งในการวางแนวทางเพื่อลดผลกระทบทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว โดยใช้ประโยชน์จากกระแสการแยกขั้วของSupply Chain ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ซึ่งในปีที่ผ่านมาการขอรับการส่งเสริมการลงทุนสูงถึง 1.14 ล้านล้านบาทสูงสุดในรอบ 10 ปี นอกจากนี้ ยังต้องเร่งทำข้อตกลงทางการค้าเพิ่มเติมจาก FTA ไทย-EFTA ที่เพิ่งสำเร็จ เพื่อเสริมความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน
ดันรัฐแก้ไขปัญหา PM 2.5
นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) แสดงจุดยืนสนับสนุนรัฐบาลในการยกระดับการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 เป็นวาระแห่งชาติ หลังพบว่าปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของประชาชน ภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยว เสียโอกาสทางธุรกิจในการจัดกิจกรรมกลางแจ้ง และกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม
ดังนั้นเพื่อยกระดับแนวทางแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 กกร. จีงหารือแนวทางดำเนินการเชิงรุกในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยมีมาตรการสำคัญ ดังนี้ 1.สนับสนุนการให้เงินอุดหนุนในช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อเร่งนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาลดปัญหาฝุ่นละอองและการเผาในภาคเกษตรกรรม
2.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่าไม้ ให้เกิดการบริหารจัดการที่ยั่งยืน ลดปัญหาไฟป่า และกระตุ้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า
3. ผลักดันกลไกภาคเอกชนให้มีส่วนร่วมในคณะกรรมการต่างๆ ภายใต้ พ.ร.บ. อากาศสะอาด และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
4.สนับสนุนการใช้แผนที่ One Map และเตรียมความพร้อมปฏิบัติตามมาตรการ EUDP ภายใต้กฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า (EU Deforestation Regulation: EUDR) เพื่อบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมและป่าไม้
5. ใช้กลไกความร่วมมืออาเซียน เพื่อประสานการป้องกันและควบคุมปัญหาฝุ่น PM2.5 และไฟป่าในระดับภูมิภาค
ทั้งนี้ กกร. ย้ำว่ามาตรการเหล่านี้จะช่วยลดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากปัญหาฝุ่น PM2.5 และเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหา PM2.5 อย่างมีประสิทธิภาพและอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ที่ประชุม กกร.เห็นถึงความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องปฏิรูปกฎหมายทั้งระบบ จึงเสนอให้เร่งดำเนินการแก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคและไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยจัดลำดับความสำคัญ เพื่อให้มีผลสัมฤทธิ์ได้อย่างรวดเร็ว เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างความโปร่งใส และส่งเสริมความยากง่ายมนการดำเนินธุรกิจ (Ease of Doing Business)
รวมทั้ง สนับสนุนแนวทาง การยกระดับ การจัดการบัญชีม้าของ สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก โดยที่ผ่านมา ได้พัฒนา ระบบรักษาความปลอดภัย ของ Mobile Banking เพื่อป้องกัน Application ดูดเงิน และ การควบคุมโทรศัพท์มือถือระยะไกล (Remote Access) งด การส่งข้อความ SMS แนบลิงก์ ในการติดต่อกับลูกค้า จัดให้มี Hotline รับแจ้งเหตุ 24 ชั่วโมง ตลอด 7 วัน ร่วมกับ ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (AOC) พัฒนาระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลในภาคธนาคาร (Central Fraud Registry) เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชี ธุรกรรมต้องสงสัย และบัญชีม้า ทำให้สามารถจัดการระงับบัญชีม้าไปแล้วกว่า 1.8 ล้านบัญชี
และ เตรียมออกมาตรการ เพิ่มเติม ในการจัดการบัญชีม้านิติบุคคล ทั้งนี้ เพื่อความสำเร็จ จำเป็นที่ ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วม ในการจัดการ ปัญหาภัยทางการเงิน ตั้งแต่ ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้ง ภาครัฐและเอกชน ผู้ให้บริการ เครือข่ายโทรคมนาคม (Telco) ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และ ผู้ให้บริการ E-Wallet รวมถึง ภาคประชาชน ที่ต้องตื่นตัว และ รู้เท่าทันภัยทางการเงิน เพื่อให้แก้ไข และ ป้องกันภัยทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
ที่มาของข้อมูล: https://www.jsccib.org/home
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: https://bangkokx.me/thai-economy-h1-2024/

Editor's Pick
