อสังหาฯ ปี 68 จะ ทรง หรือ ทรุด
อสังหาฯ ปี 68 จะ ทรง หรือ ทรุด

อสังหาฯ ปี 68 จะ ทรง หรือ ทรุด หลังเหตุการณ์  “แผ่นดินไหว” ในวันที่ 28 มีนาคม 2568  เป็นคำถาม ที่เกิดขึ้น หลังจากที่ ภาคอสังหาริมทรัพย์ เพิ่งจะมีข่าวดีจากการที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย มีมาตรการผ่อนคลายการกำหนดสัดส่วนวงเงินสินเชื่อเทียบกับมูลค่าหลักประกัน (Loan to Value : LTV) เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2568 และ จะเริ่มมีผลบังคับใช้ วันที่ 1พฤษภาคม 2568

“ผมว่า แผ่นดินไหว รอบนี้ เป็นการพิสูจน์ว่า อาคารสูงในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล สามารถรับกับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้ดี เพราะ ไม่มีตึกที่สร้างเสร็จและใช้งานแล้ว ที่ถล่มหรือเสียหายจากแผ่นดินไหว  รอบนี้ โดย ปัจจุบัน กรุงเทพฯ มีตึกสูงทั้งประเภท ตึกเตี้ย 8 ชั้น และ ตึกสูง 40-50 ชั้น ทั้งสิ้น 5,994 อาคาร ทำให้ผู้อยู่อาศัยในอาคารชุด และ ผู้ซื้อ มั่นใจในมาตรฐานและคุณภาพในการพัฒนาที่อยู่อาศัยของผู้ประกอบการไทย” ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะนายกสมาคมอาคารชุดไทย ให้สัมภาษณ์ หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา

ในขณะที่ อาคารสูงในประเทศไทย ในปัจจุบัน มีความแข็งแรง และ สามารถรองรับกับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้ เนื่องจากการก่อสร้างอาคารสูงในปัจจุบันของประเทศไทย เป็นการก่อสร้างภายใต้กรอบของกฎหมาย ที่มีกฎหมายควบคุมการออกแบบอาคารให้ต้านทานแผ่นดินไหว ที่มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540  และมีฉบับปรับปรุงปี  พ.ศ. 2550 และ ปี พ.ศ. 2564 ที่บังคับให้อาคารสูงเกิน 15 เมตร หรือ ประมาณ 5 ชั้นขึ้นไป ต้องมีการออกแบบที่สามารถต้านทานแผ่นดินไหว ทำให้อาคารสูงในประเทศไทย มีมาตรฐานการก่อสร้างที่เพียงพอที่จะรองรับกับสถานการณ์แผ่นดินไหวได้ โดยมาตรฐานการก่อสร้างที่สามารถต้านทานแผ่นดินไหว ที่ระดับ 7.0–7.5 ริกเตอร์ ซึ่งประเทศไทยเคยเกิดแผ่นดินไหวสูงสุด 6.5 ริกเตอร์ที่จังหวัดน่านเมื่อปี 2478 นอกจากนี้กฎหมายยังกำหนดให้ อาคารในกรุงเทพฯ ต้องรับแรงสั่นสะเทือนที่มากระแทกอาคารได้ คิดเป็นสัดส่วน 4-12% ของน้ำหนักอาคาร (4-12% ของแรง Gravity) และในส่วนของอาคารในจังหวัดกาญจนบุรีและภาคเหนือต้องรับแรงสั่นสะเทือนคิดเป็นสัดส่วน 4-15% ของน้ำหนักอาคาร เพราะอยู่ใกล้ศูนย์กลางเกิดแผ่นดินไหวมากกว่า

จากสถานการณ์ดังกล่าว ประเสริฐ มั่นใจว่า ตลาดอาคารสูง อาจจะชะลอตัวชั่วคราว แต่จะฟื้นกลับมาได้ อย่างที่ผ่านมา เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โคโรน่าไวรัส สายพันธ์ใหม่ 2019 ตลาดอาคารชุด ชะลอตัว แต่ก็เป็นการชั่วคราว และ ตลาดก็พลิกฟื้นกลับมาได้ ดังนั้นผลกระทบด้านจิตวิทยา ต่อการตัดสินใจซื้ออาคารสูง จะชะลอตัวในระยะสั้น แต่ในระยะยาวตลาดอาคารชุดก็จะพลิกกลับมา

อสังหาฯ ปี 68 จะ ทรง หรือ ทรุด

แบงก์ชาติ ระบุ กำลังซื้อ ชะลอตัว

ในขณะที่ ผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ให้ความเห็นถึง ผลกระทบจาก “แผ่นดินไหว” กับ ภาคอสังหาริมทรัพย์ ว่า ยังเร็วเกินไปที่จะ ประเมินผลกระทบ จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ยังต้องรอดูตัวเลข

พร้อมระบุ เบื้องต้นว่า “แผ่นดินไหว” จะกระทบความเชื่อมั่น คนชะลอตัดสินใจซื้อ-เช่า อาคารสูง นักท่องเที่ยวชะลอเข้ามาเที่ยว ด้านการบริโภคเอกชนอาจเห็นผลกระทบระยะสั้นจากเงินที่ต้องเอาไปซ่อมแซมทรัพย์สิน แต่มั่นใจว่า มาตรการ LTV ช่วยเรื่องอุปทานคงค้างภาคอสังหาริมทรัพย์ ระบุเตรียมนำข้อมูลใหม่ประมวลนโยบายการเงิน 30 เมษายน นี้

โดยสรุปแล้ว ภาพรวมของ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 มีแนวโน้มที่จะชะลอตัว และมีสัญญาณที่จะฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี แต่จะไปได้ไกลขนาดไหน สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่สถานการณ์เรื่อง “แผ่นดินไหว” แต่อยู่ที่ สถาบันการเงินจะพิจารณาอนุมัติการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยหรือไม่ เนื่องจากปัญหาใหญ่ของตลาดอสังหาริมทรัพย์ ไม่ได้อยู่ที่ “แผ่นดินไหว” แต่อยู่ที่ ภาระหนี้ครัวเรือนที่สูง และความสามารถในการชำระคืนหนี้ต่ำ จนสถาบันการเงินไม่ปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ซื้อ

“ผมว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ แผ่นดินไหว แต่อยู่ที่ แบงก์จะปล่อยกู้หรือไม่” ประเสริฐ กล่าว

ที่มาของข้อมูล : https://www.bot.or.th/th/home.html

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : https://bangkokx.me/earthquake-building-29032025/

[addtoany]
Ellipse 1
กองบรรณาธิการ Bangkok X