
สนค. ระบุการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 5-10% จะกระทบกับต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 0.41-7.75% ขึ้นอยู่กับประเภทของอุตสาหกรรม

ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ เปิดเผยการวิเคราะห์ “ผลกระทบของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไป” เบื้องต้นพบว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตเฉลี่ยที่ 0.41-7.75% ขึ้นอยู่กับประเภทของอุตสาหกรรมแต่ละประเภท โดยกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบสูงเป็นกลุ่มที่ใช้แรงงานเป็นต้นทุนในการผลิตหลัก(Labor Intensive) ในขณะที่กลุ่มที่ใช้เทคโนโลยี่จะได้รับผลกระทบจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำน้อย ในขณะเดียวกันการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะกระทบกับอัตราเงินเฟ้อไม่มากนัก เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลมีมาตรการลดต้นทุนด้านพลังงาน ดังนั้น ต้นทุนค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจะส่งผ่านมายังราคาสินค้าและบริการได้อย่างจำกัด ขณะที่การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะสนับสนุนให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย และการเพิ่มผลิตภาพการผลิต (Productivity) ซึ่งจะเกิดผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมในระยะต่อไป
ปัจจุบัน อัตราค่าจ้างขั้นต่ำของไทยถูกกำหนดโดยคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งเป็นองค์กรไตรภาคี ประกอบด้วยผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล ทั้งนี้ในการปรับอัตราค่าจ้างแต่ละครั้งจะคำนึงถึงหลายปัจจัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน มาตรา 87 อาทิ ค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้า ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ สภาพทางเศรษฐกิจและสังคม สำหรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ใช้อยู่ เป็นอัตราตามมติของคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 21 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยมีอัตราอยู่ระหว่าง 328 – 354 บาทต่อวัน หรือเฉลี่ย 337 บาทต่อวัน และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับอัตราใหม่ ของคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 เพื่อให้มีผลบังคับใช้ในปี 2567 แน่นอนว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำจะส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของแรงงานและครอบครัว ขณะเดียวกันจะกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการ และนำไปสู่การสูงขึ้นของภาวะเงินเฟ้อได้ สนค. จึงดำเนินการวิเคราะห์ผลกระทบเบื้องต้นโดยใช้ตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และจำนวนผู้ใช้แรงงานที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งประมวลข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติและกระทรวงแรงงาน โดยหากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปรับเพิ่มขึ้นจากเดิม (โดยเฉลี่ย 337 บาทต่อวัน) ในอัตราระหว่าง 5% หรือ 353.85 บาทต่อวัน และ 10% หรือ 370.70 บาทต่อวัน จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนภาคการผลิตและบริการในภาพรวม ดังนี้
- ภาคการผลิตที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบมาก คือกลุ่มที่มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายแรงงานค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับต้นทุนรวมทั้งหมด โดยเฉพาะกลุ่มสาขาการเกษตร อาทิ 1) การเพาะปลูกยางพารา 2) การเพาะปลูกอ้อย 3) การทำสวนมะพร้าว 4) การทำไร่ข้าวโพด 5) การทำไร่มันสำปะหลัง 6) การปลูกพืชผัก และ 7) การทำนา และกลุ่มสาขาบริการ อาทิ 1) การศึกษา 2) การค้าปลีก 3) การค้าส่ง 4) บริการทางการแพทย์ และ 5) การบริการส่วนบุคคล (การซักรีด การตัดผม เสริมสวย) โดยต้นทุนจะเพิ่มขึ้นระหว่าง 0.12 – 7.75%
- ขณะที่ภาคการผลิตที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบน้อย คือกลุ่มที่มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายแรงงานค่อนข้างต่ำ
ในกลุ่มสาขาอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการผลิต อาทิ 1) โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม 2) อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า 3) การผลิตอุปกรณ์และเครื่องมือวิทยุ โทรทัศน์ และการคมนาคม 4) การผลิตก๊าซธรรมชาติ และ 5) การผลิตยานยนต์ โดยต้นทุนจะเพิ่มขึ้นระหว่าง 0.03 – 0.65%
พูนพงษ์ กล่าวว่าโดยภาพรวมแล้ว การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจะส่งผลให้ต้นทุนในภาพรวมเพิ่มขึ้นระหว่างร้อยละ 0.41 – 1.77% ในส่วนของการเพิ่มขึ้นของต้นทุนภาคการผลิตและบริการ ส่งผลต่อสินค้าและบริการในตะกร้าเงินเฟ้อ ซึ่งในภาพรวมระดับราคาเพิ่มขึ้นระหว่าง 0.27 – 1.04% สำหรับสินค้าและบริการที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบสูงสุด 5 อันดับแรก คือ กลุ่มอาหารสำเร็จรูป ข้าว การสื่อสาร ผักสด และผลไม้สด เนื่องจากมีสัดส่วนน้ำหนักค่อนข้างสูงในการคำนวณอัตราเงินเฟ้อ และเกี่ยวข้องกับภาคการผลิตที่ใช้แรงงานค่อนข้างเข้มข้น อาทิ กลุ่มอาหารสำเร็จรูป อยู่ในภาคการผลิต ภัตตาคารและร้านขายเครื่องดื่ม ข้าว อยู่ในภาคการทำนา การสื่อสาร อยู่ในภาคการผลิตบริการไปรษณีย์โทรเลข โทรศัพท์ และการสื่อสาร และผักสด อยู่ในภาคการผลิตการปลูกพืชผัก
และจากผลการศึกษาพบว่าในการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจากเดิม (โดยเฉลี่ย 337 บาทต่อวัน) ตั้งแต่ 5 – 10% จึงส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อ ดังนี้
1) กรณีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 5% หรือ 353.85 บาทต่อวัน หากสถานประกอบการเพิ่มต้นทุนค่าจ้างเฉพาะแรงงานที่จ่ายเป็นค่าจ้างขั้นต่ำ จะส่งผลให้ต้นทุนในภาพรวมเพิ่มขึ้น 0.41 %และอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.27% ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการเพิ่มต้นทุนค่าจ้างแก่แรงงานทั้งระบบในองค์กร จะส่งผลให้ต้นทุนในภาพรวมเพิ่มขึ้น 0.88% และอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.52%
2) กรณีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 10% หรือ 370.70 บาทต่อวัน หากสถานประกอบการเพิ่มต้นทุนค่าจ้างเฉพาะแรงงานที่จ่ายเป็นค่าจ้างขั้นต่ำ จะส่งผลให้ต้นทุนในภาพรวมเพิ่มขึ้น 0.82% และอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.55% ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการเพิ่มต้นทุนค่าจ้างแก่แรงงานทั้งระบบในองค์กร จะส่งผลให้ต้นทุนในภาพรวมเพิ่มขึ้น 1.77% และอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 1.04%
พูนพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ถึงแม้การปรับค่าจ้างขั้นต่ำจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต แต่การปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับความเป็นอยู่ของครอบครัวผู้ใช้แรงงาน อีกทั้งสนับสนุนการอุปโภค-บริโภคภาคครัวเรือน ให้อุปสงค์ภายในประเทศมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น

Editor's Pick
