BangkokX-Horizontal
Google เผยรายงานเศรษฐกิจดิจิทัลไทย ปี 2566 มูลค่าพุ่งกว่า 1.27 ล้านล้านบาท
Jackie Wang, Country Director, Google Thailand
Jackie Wang, Country Director, Google Thailand
Google, Temasek และ Bain & Company ร่วมจัดทำรายงานเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฉบับที่ 8 พบตัวเลขเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย ปี 2566 เติบโตแรง แม้เศรษฐกิจโดยรวมยังอยู่ในช่วงการฟื้นตัวและจะมีความไม่แน่นอน โดยมีมูลค่า 36,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.27 ล้านล้านบาท เติบโตร้อยละ 16 และมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาค รองจากอินโดนีเซีย สะท้อนถึงพฤติกรรมของคนไทยที่หันเข้าสู่ดิจิทัลเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่โควิด ซึ่งยังมีทิศทางเติบโตต่อเนื่อง
รายงานเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจัดทำโดย Google, Temasek และ Bain & Company ฉบับที่ 8 โดยเป็นการติดตามและวิจัยใน 6 ประเทศที่ใหญ่สุดในภูมิภาค ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย พบเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เติบโตต่อเนื่อง คาดปี 2566 มีมูลค่าสินค้ารวม (GMV) สูงถึง 218,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโตจากปีก่อนถึงร้อยละ 11 ส่วนรายได้เศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาค พุ่งแตะที่ 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
จากรายงาน พบว่ารายได้จากเศรษฐกิจดิจิทัล มีอัตราการเติบโตเร็วกว่ามูลค่าสินค้ารวมของภูมิภาค ถึง 1.7 เท่า สะท้อนถึงความสามารถในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคนี้
สำหรับประเทศไทย จากการประเมินมูลค่าสินค้ารวมของเศรษฐกิจดิจิทัล ปี 2566 อยู่ที่ 36,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.27 ล้านล้านบาท เติบโตร้อยละ 16 และมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาค รองจาก ประเทศอินโดนีเซีย ที่มีมูลค่าสินค้ารวม 82,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยคาดว่า ไทยจะเติบโตเนื่องต่อเนื่อง เห็นได้จากตัวเลขคาดการณ์ปี 2568 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า จะยังเติบโตได้อีก ถึงร้อยละ 17 จากปีนี้ หรือจะมีมูลค่าอยู่ที่ 49,000 ล้านดอลลาร์ฯ และมีโอกาสที่จะขึ้นไปแตะหลัก 50,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนคาดการณ์ปี 2573 มูลค่าสินค้ารวม จะเพิ่มขึ้นไปอีก เป็นหลัก 1 แสนล้านดอลลาร์ ถึง 165,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมหลักที่เป็นแกนของเศรษฐกิจดิจิทัล จะมี 5 อุตสาหกรรม ประกอบด้วย อีคอมเมิร์ซ, การท่องเที่ยวออนไลน์, การขนส่ง และบริการส่งอาหารออนไลน์, สื่อออนไลน์ และบริการทางการเงิน ซึ่ง การเติบโตของไทยในปีนี้ ถูกขับเคลื่อนโดยการท่องเที่ยวออนไลน์ เป็นหลัก พบว่ามีอัตราการเติบโตเร็ว เป็นอันดับ 2 ของภูมิภาค คาดว่าจะเติบโตสูงถึงร้อยละ 85 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า คิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากปีก่อนที่มีมูลค่า 3,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ
อย่างไรก็ดี แรงผลักดันหลักที่จะทำให้เศรษฐกิจดิจิทัลเติบโตแข็งแกร่งต่อเนื่อง คือ อี คอมเมิร์ซ ซึ่ง ปี 2566 นี้ อี คอมเมิร์ซ จะมีส่วนแบ่งอยู่ที่ร้อยละ 61 ของมูลค่าสินค้ารวมทั้งปี คาดว่าจะเติบโตถึงร้อยละ 10 จากปีก่อน และมีมูลค่าแตะที่ 22,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนสื่อออนไลน์ ซึ่งประกอบด้วย บริการวิดีโอออนดีมานด์ เพลงออนดีมานด์ และเกม พบว่า ไทยครองตลาดบริการวิดีโอสตรีมมิ่งที่เรียกเก็บค่าสมาชิก ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และคาดการณ์อีกว่า ไทยจะเป็นหนึ่งในตลาดสื่อออนไลน์ ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ ในช่วงระหว่างปี 2566-2573
ส่วนธุรกิจการขนส่งพัสดุ และบริการขนส่งอาหารออนไลน์ ปีนี้ คาดว่าจะเติบโตเพียงเล็กน้อย ที่ร้อยละ 1 เท่านั้น โดยมูลค่าอยู่ที่ 3,000 ล้านบาท และ บริการด้านการเงินดิจิทัล พบว่ามีการเติบโตสูงทั่วทั้งภูมิภาค และจากรายงานดังกล่าว บริการการเงินดิจิทัล ในไทย มีการเติบโตที่แข็งแกร่ง และเติบโตเร็วที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คิดเป็นการเติบโตที่ร้อยละ 65 โดยมียอดสินเชื่อสูงถึง 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
แจ็กกี้ หวาง คันทรี ไดเร็คเตอร์ กูเกิล ประเทศไทย ให้ความเห็นว่า เศรษฐกิจดิจิทัลของไทยยังคงแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจมหภาค ขณะเดียวกัน ภาคธุรกิจดิจิทัล ก็มุ่งมั่นสู่เส้นทางการเติบโตอย่างมีกำไรมากขึ้น โดยปีนี้ เป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่การสร้างผลกำไรให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง แต่จะเติบโตต่อได้ในอนาคต จำเป็นต้องอาศัยการยกระดับการมีส่วนร่วมทางดิจิทัลที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
ปัจจุบัน พบว่าผู้ใช้ที่มีมูลค่าสูง (High-value users : HVUs) มีการใช้จ่ายสูงกว่า ผู้ใช้ที่มีมูลค่าไม่สูง (Non-HVUs) โดยเฉลี่ยถึง 7 เท่า โดยเฉพาะการใช้จ่ายในส่วนของ เกม การขนส่ง และการท่องเที่ยว โดยมีการคาดว่า ผู้ใช้ที่มีมูลค่าสูง ในไทย จะมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 64 ในอีก 12 เดือนข้างหน้า นับเป็นอัตราการเติบโตที่สูงที่สุดในภูมิภาคทีเดียว แต่กลุ่ม ผู้ใช้ที่มีมูลค่าไม่สูง ก็มีโอกาสเติบโตมากกว่าถึง 1.9 เท่า
ดังนั้น การขจัดอุปสรรคต่อการมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจดิจิทัลของกลุ่ม ผู้ใช้ที่มีมูลค่าไม่สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่อยู่นอกเขตกรุงเทพฯ การขจัดอุปสรรคต่างๆ อย่างจริงจังเพื่อให้ผู้คนสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลได้มากยิ่งขึ้น ลดช่องว่างด้านการมีส่วนร่วมทางดิจิทัล จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจดิจิทัลในระยะยาว
Ellipse 1
กองบรรณาธิการ Bangkok X

บทความที่เกี่ยวข้อง