
ประกันภัย อาคารชุด มูลค่ารวม 3.8 ล้านล้านบาท จากจำนวน อาคารชุด 5,994 อาคาร ในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร
ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย ได้ เปิดเผยข้อมูล เกี่ยวกับ การประกันภัย อาคารชุดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 5,994 ตึก ซึ่งครอบคลุมทั้ง อาคารชุดขนาด 8 ชั้น และ อาคารสูงระหว่าง 20-50 ชั้น ว่า อาคารชุดทุกอาคาร มีการทำประกันภัยไว้ โดยจ่ายค่า เบี้ยประกันภัย 2,200 ล้านบาท ต่อปี
ทำให้ได้รับความคุ้มครอง มูลค่ารวม 3.8 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามกฏหมายอาคารชุด

“สิ่งที่ทำให้ การประกันภัยของอาคาร ในกรุงเทพฯ เป็นเรื่องที่น่าสนใจ คือ การคุ้มครองระยะยาว ที่ได้รับการสนับสนุน จากกฎหมายที่กำหนด ให้ต้องมีการทำประกันภัย ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น การก่อสร้าง ไปจนถึง การส่งมอบอาคาร และ การอยู่อาศัยในระยะยาว
กฎหมายนี้ไม่เพียงแต่ ทำให้ผู้พัฒนาโครงการ ต้องจัดเตรียม การประกันภัยในระหว่างการสร้าง เท่านั้น แต่ยังมีข้อกำหนด ให้คอนโดมิเนียม ทุกแห่งต้องมีการคุ้มครองความเสียหาย อย่างเพียงพอ ตลอดอายุการใช้งาน ของอาคาร โดยมีวงเงินคุ้มครอง ในอาคารชุดเฉลี่ย 1-2 แสนบาท ต่อ ห้องชุด” ประเสริฐ กล่าว
ประกันภัย อาคารชุด มูลค่ารวม 3.8 ล้านล้านบาท
เมื่อพิจารณาตัวเลข ในรายละเอียด พบว่า วงเงินคุ้มครอง ค่าเสียหายในห้องชุด ที่มีมูลค่า ประมาณ 1-2 แสนบาท ต่อ ห้องชุด ถือเป็นการคุ้มครอง ที่สามารถ ทำให้ ผู้อยู่อาศัยในคอนโดมิเนียมรู้ สึกอุ่นใจและมั่นใจได้ ว่า หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น การได้รับการเยียวยา ความเสียหาย จะมี ความรวดเร็ว และ มีความเหมาะสม
และ ที่น่าสนใจไปกว่านั้น ยังมี โครงการคอนโดมิเนียม ใหม่ๆ กว่า 200 โครงการที่ยังอยู่ใน ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งได้รับการคุ้มครอง จากการประกันภัย รวมกันไม่ต่ำกว่า 1.2 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ จึงไม่เพียงแต่ ทำให้ชาวคอนโดมิเนียม ที่อยู่อาศัยในอาคารเก่าๆ สามารถวางใจได้ แต่ ยังช่วยเสริมความมั่นใจ ให้กับผู้ที่กำลัง จะเป็น เจ้าของคอนโดมิเนียมในอนาคต
ประเสริฐ กล่าวว่า ทั้งหมดนี้ ไม่เพียงแต่แสดง ให้เห็นถึง ความมั่นคงทางกฎหมาย และระบบการคุ้มครอง จากประกันภัย ที่มีอยู่ใน อาคารสูงทั่วกรุงเทพฯ
แต่ยังเป็นสัญญาณที่สำคัญ ถึง ความปลอดภัย ของชีวิตและทรัพย์สิน ของผู้ที่พักอาศัยใน โครงการคอนโดมิเนียม
การมีประกันภัย ที่มีวงเงินคุ้มครองสูง และ ครอบคลุม ในระยะยาว ทำให้ ผู้อยู่อาศัยสามารถใช้ชีวิต ได้อย่างมั่นใจในระดับหนึ่ง แม้จะอยู่ในเมือง ที่เต็มไปด้วย ความเสี่ยงจาก ภัยธรรมชาติ หรือ เหตุการณ์ไม่คาดฝัน ประเสริฐ กล่าว
ประกันภัย พร้อมจ่าย
ดร.สมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น ได้ส่งผลให้หลายพื้นที่ ทั่วประเทศไทยได้รับผลกระทบเกิดความเสียหายเป็นวงกว้างโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองใหญ่ ทั้งอาคาร บ้านเรือน คอนโดมิเนียมที่อยู่อาศัยหรือสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก
ทาง สมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และขอส่งความห่วงใยให้ผู้เอาประกันภัย รวมถึงประชาชนที่ ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว
พร้อมแนะนำ ผู้เอาประกันภัยที่อยู่ในเขต พื้นที่ประสบภัยแผ่นดินไหว ตรวจสอบ กรมธรรม์ประกันภัยว่า มีความคุ้มครองภัยจากแผ่นดินไหว หรือ ไม่
ถ้ามีความคุ้มครองให้รีบแจ้งความเสียหายแก่บริษัทประกันภัยทันที เพื่อประโยชน์ในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการดูแล และ ให้บริการผู้เอาประกันภัย ที่ได้รับความเสียหาย จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว สมาคมประกันวินาศภัยไทย จึงได้ตั้ง ศูนย์ประสานงานและอำนวยความสะดวกด้านประกันภัย เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ ผู้เอาประกันภัย ที่ได้รับผลกระทบจาก ภัยพิบัติดังกล่าว
ซึ่งการดำเนินงาน ครอบคลุม ถึงการอำนวยความสะดวก ในการเรียกร้อง ค่าสินไหมทดแทน การตรวจสอบข้อมูล
ในกรณีที่กรมธรรม์สูญหาย ตลอดจนการให้คำแนะนำเกี่ยวกับรายละเอียดความคุ้มครองผ่านช่องทางโทรศัพท์ 0 2108 8399 และช่องทางออนไลน์ Facebook สมาคมประกันวินาศภัยไทย ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์หมายเลขสายด่วนของ ทุกบริษัทประกันภัยให้ประชาชนรับทราบและสามารถติดต่อได้อย่างสะดวกรวดเร็ว รวมถึงประสานงานกับบริษัทสมาชิกให้เตรียม ความพร้อมในการให้บริการช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เร่งดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้เอาประกันภัยโดยเร็วที่สุด
กรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองภัยแผ่นดินไหว
กรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองครอบคลุมภัยจากแผ่นดินไหว มีดังนี้
- กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยให้ความคุ้มครองความเสียหายจากภัยแผ่นดินไหวไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี โดยสามารถซื้อความคุ้มครองเพิ่มเติมได้ ซึ่งจำนวนกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีจำนวน 2,233,518 ฉบับ ขณะที่จังหวัดอื่น ๆ มีจำนวน 3,145,880 ฉบับ รวมทั้งประเทศมีกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย จำนวน 5,379,398 ฉบับ
สำหรับการประกันภัยอาคารชุด ในส่วนของนิติบุคคลจะเป็นกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (Industrial All Risk: IAR) คุ้มครองความเสียหายต่อตัวอาคารส่วนกลาง เช่น โครงสร้างอาคาร ลิฟต์ บันไดส่วนกลาง สระว่ายน้ำ ฟิตเนส และทรัพย์สินอื่น ๆ ที่เป็นของส่วนกลาง ได้รับความคุ้มครองจากภัยแผ่นดินไหวตามจำนวนเงินจำกัดความรับผิด (Sub Limit) ขณะที่ในส่วนเจ้าของห้องชุดเป็นกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย คุ้มครองความเสียหายต่อทรัพย์สินภายในห้องชุด เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องตกแต่ง และทรัพย์สินอื่น ๆ ที่อยู่ภายในห้องชุด ได้รับความคุ้มครองจากภัยแผ่นดินไหวไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี แต่สามารถซื้อความคุ้มครองเพิ่มเติมได้
- กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับสถานประกอบการ ร้านค้าต่าง ๆ จะให้ความคุ้มครองความเสียหายจากภัยแผ่นดินไหว เฉพาะกรมธรรม์ที่ซื้อความคุ้มครองภัยแผ่นดินไหวเพิ่มเติมเท่านั้น ซึ่งจำนวนกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีจำนวน 452,716 ฉบับ ขณะที่จังหวัดอื่น ๆ มีจำนวน 661,806 ฉบับ รวมทั้งประเทศมีกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย จำนวน 1,114,522 ฉบับ
- กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (Industrial All Risk: IAR)สำหรับผู้ประกอบกิจการร้านค้าทั่วไป สำนักงาน โรงแรม โรงเรียน โรงงานอุตสาหกรรม สถานประกอบการต่าง ๆ ให้ความคุ้มครองความเสียหายของสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินภายใน สิ่งปลูกสร้าง ที่เอาประกันภัยจากอุบัติเหตุใด ๆ ที่ไม่ได้มีการระบุข้อยกเว้นไว้ ได้รับความคุ้มครองจากภัยแผ่นดินไหวตามจำนวนเงินจำกัดความรับผิด (Sub Limit) ซึ่งจำนวนกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีจำนวน 95,372 ฉบับ ขณะที่จังหวัดอื่น ๆ มีจำนวน 99,017 ฉบับ รวมทั้งประเทศมีกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน จำนวน 194,389 ฉบับ
สำหรับการประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก คุ้มครองความเสียหายจากการหยุดชะงักของธุรกิจ ความสูญเสียในทางการค้า (รายได้ของผู้เอาประกันภัย) กำไรสุทธิ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (ค่าจ้างพนักงาน ค่าเช่าสำนักงาน ค่าเช่าโรงงาน เป็นต้น) อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่สิ่งปลูกสร้างใด ๆ หรือทรัพย์สินอื่น ๆ ที่ผู้เอาประกันภัยใช้เพื่อประกอบธุรกิจได้รับความเสียหาย และได้รับความคุ้มครองภายใต้กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยหรือกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินและไม่ได้มีการระบุยกเว้นไว้
- กรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาการก่อสร้างสำหรับผู้ว่าจ้างหรือผู้รับเหมาก่อสร้างซึ่งให้ความคุ้มครองต่องานก่อสร้าง งานปรับปรุงสถานที่ งานตกแต่ง หรืองานติดตั้งเครื่องจักรที่ได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุ หรือเหตุการณ์ อันไม่อาจคาดหมายได้ หรือด้วยสาเหตุอื่น ๆ ที่ไม่ได้ระบุในข้อยกเว้น โดยให้ความคุ้มครองภัยแผ่นดินไหว ประกอบด้วย งานก่อสร้างและ วิศกรรมโยธาการติดตั้งเครื่องจักร และความรับผิดต่อบุคคลภายนอก
- กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ให้ความคุ้มครองความเสียหายจากภัยแผ่นดินไหวเฉพาะกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 เท่านั้น สำหรับกรมธรรม์ประเภท 2 ประเภท 3 หรือประเภท 5 (2+ และ 3+) สามารถซื้อเป็นเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์คุ้มครองภัยธรรมชาติ หรือแยกซื้อภัยแผ่นดินไหวเพิ่มได้
- กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุคุ้มครองความเสียหายต่อร่างกายรวมถึงชีวิตที่เกิดจากอุบัติเหตุ รวมถึงอุบัติเหตุจากแผ่นดินไหวด้วย
ทั้งนี้ทาง สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)ได้แนะนำให้ผู้เอาประกันภัยที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ติดต่อบริษัทประกันภัยที่ทำกรมธรรม์ไว้โดยเร็วที่สุด พร้อมจัดเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องสำหรับใช้ประกอบการพิจารณาจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามเงื่อนไขกรมธรรม์ เช่น หลักฐานความเสียหาย ภาพถ่าย และเอกสารสำคัญอื่น ๆ
รวมทั้ง บริษัทประกันภัย จะส่งผู้ประเมินความเสียหายเข้าตรวจสอบและพิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ หากมีข้อสงสัยหรือ พบปัญหาจากการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนสามารถติดต่อ สำนักงาน คปภ. หรือติดต่อสายด่วน คปภ. 1186 หรือช่องทาง Chatbot @oicconnect ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : https://bangkokx.me/earthquake-building-29032025/
ที่มาของข้อมูล : https://www.oic.or.th
