
“อสังหาฯ” ขานรับมาตรการ กระตุ้น ภาคอสังหาฯ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 มั่นใจตลาดอสังหาฯ ปี 2567 มีมูลค่าแตะ 1.1 ล้านล้านบาท ดันเศรษฐกิจปี 2567 เติบโตแตะ 4%
“อสังหาฯ” ขานรับมาตรการ กระตุ้น ภาคอสังหาฯ นายกสมาคมอาคารชุดไทยและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) พีระพงศ์ จรูญเอก ให้ความเห็นว่า จากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 9 เมษายน 2567 มีมติเห็นชอบ 7 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ ประกอบด้วย
1.ลดค่าจดทะเบียนโอนอสังหาฯจาก 2% เหลือ 0.01% และลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาฯ จาก 1% เหลือ 0.01% และขยับระดับราคาเป็นไม่เกิน 7 ล้านบาท ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567
2.ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้ที่ต้องการปลูกสร้างบ้าน ในจำนวนล้านละ 10,000 บาท ต่อทุกจำนวนค่าก่อสร้าง 1 ล้านบาท โดยรวมไม่เกิน 100,000 บาทตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568
3.โครงการสินเชื่อบ้าน Happy Home สนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยคงที่ 3% ต่อปี เป็นระยะเวลา 5 ปี วงเงินต่อรายสูงสุด ไม่เกิน 3,000,000 บาท ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 40 ปี
4.โครงการสินเชื่อบ้าน Happy Life สนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรกอยู่ที่ 2.98% ต่อปี วงเงินต่อรายตั้งแต่ 2,500,000 บาทขึ้นไป
5.การให้การส่งเสริมกิจการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย (โครงการบ้าน BOI) โดยการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับผู้ประกอบการอสังหาฯ ที่พัฒนาโครงการบ้าน BOI ที่ระดับราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาทต่อหน่วย(ปรับเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 1.2 ล้านบาทต่อหน่วย) เป็นระยะเวลา 3 ปี โดยสามารถยื่นขอได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันทำการสุดท้ายของปี 2568
6.โครงการสินเชื่อบ้านออมสินเพื่อประชาชน วงเงินโครงการ 10,000 ล้านบาท โดยสนับสนุนสินเชื่อสำหรับบุคคลทั่วไป เพื่อซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ห้องชุด หรือปลูกสร้างที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรกอยู่ที่ร้อยละ 2.95 ต่อปี โดยปีที่ 1 คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.95 วงเงินกู้ต่อรายสูงสุด ไม่เกิน 7,000,000 บาท ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 40 ปี พร้อมเงื่อนไขเงินงวดผ่อนชำระต่ำพิเศษ เริ่มต้น 2,500 บาทต่อเดือน โดยสามารถยื่นคำขอกู้กับธนาคารออมสินได้ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2567 ถึงวันที่ 30 ธันวาคม
7.โครงการสินเชื่อ D-HOME สำหรับผู้ประกอบการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ วงเงินโครงการ 10,000 ล้านบาท โดยสนับสนุนสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการนำไปเป็นเงินลงทุน ได้แก่ ค่าที่ดิน ค่าก่อสร้าง ค่าพัฒนาสาธารณูปโภค หรือเป็นเงินหมุนเวียนในกิจการ อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นร้อยละ 3.50 ต่อปี ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 4 ปี ฟรีค่าธรรมเนียม โดยสามารถยื่นคำขอกู้ได้กับธนาคารออมสินตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2567 เป็นต้นไป
“อสังหาฯ” ขานรับมาตรการ กระตุ้น ภาคอสังหาฯ

“แม้ว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ ครม.มีมติเห็นชอบออกมานั้นจะเป็นเพียงมาตรการระยะสั้น แต่ก็เป็นมาตรการที่มีความจำเป็นท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจโดยรวมยังคงชะลอตัวอยู่ในขณะนี้ ในส่วนของมาตรการที่เหลือที่ได้เคยนำเสนอไปพร้อมกันนั้น อาจต้องใช้เวลาในการพิจารณาความเป็นไปได้ต่อไปโดยเฉพาะในส่วนของการพิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการถือครองที่อยู่อาศัยของชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ Thailand Vision ในการยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อดึงดูดนักลงทุนและผู้มีความเชี่ยวชาญพิเศษที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมแห่งอนาคตให้มาลงทุนในประเทศไทย หากสามารถเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมได้จริงก็เชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวได้เป็นอย่างดี” พีระพงศ์ กล่าว

ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ อิสระ บุญยัง ในฐานะตัวแทนของ 7 องค์กรด้านอสังหาริมทรัพย์ ประกอบด้วย คณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร สมาคมอาคารชุดไทย สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน สมาคมการขายและการตลาดอสังหาริมทรัพย์ และสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า มติคณะรัฐมนตรีที่ออกมา จะเป็นการกระตุ้นธุรกิจอุตสาหกรรมจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และภาคสถาบันการเงินด้วย พร้อมกันนั้นจะเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของที่อยู่อาศัย และการใช้ประโยชน์ที่ดินของประเทศในระยะยาวต่อไป รวมถึงจะส่งผลในเชิงบวกต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ และภาคการลงทุนอื่นๆ รวมถึงความเชื่อมั่นของภาคครัวเรือนด้วย ซึ่งจะส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมต่อไป
ขณะที่ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอล. พี. เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) อภิชาติ เกษมกุลศิริ ให้ความเห็นว่า มาตรการกระตุ้นอสังหาฯ เป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นภาพรวมของเศรษฐกิจไทย

จากผลการศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทยปี 2564 ระบุว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะการพัฒนาที่อยู่อาศัย และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง ก่อสร้าง ภาคการเงิน ธุรกิจโฆษณา และบริการให้เช่าที่อยู่อาศัย มีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วนไม่น้อยกว่า 9.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(Gross Domestic Products : GDP) มีการจ้างงานรวมไม่น้อยกว่า 2.8 ล้านคนและ มากกว่า 80% ของการพัฒนาโครงการทั้งหมดเป็นการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากภายในประเทศเป็นหลัก (ปี 2564 มีมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ทั่วประเทศ 801,241 ล้านบาท ขณะที่มูลค่า GDP ปี 2564 อยู่ที่ 16.16 ล้านล้านบาท)
ขณะที่ในปี 2566 ข้อมูลการโอนที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ (Demand Side) มีมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั้งสิ้น 1.016 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 5.67% ของ GDP ปี 2566(มูลค่า GDP 2566 อยู่ที่ 17.9 ล้านล้านบาท) เมื่อคำนวณผลทวีคูณจากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องประมาณ 3 เท่า ทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจในปี 2566 ประมาณ 3.048 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 17% ของ GDP ในปี 2566
ดังนั้นการกระตุ้นภาคอสังหาฯ ไม่ใช่การช่วยผู้ประกอบการอสังหาฯ แต่เป็นการสร้างฟันเฟื่องในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศให้เติบโตโดยประมาณการณ์ว่า ทุกๆ 1% ของการเติบโตของภาคอสังหาฯ จะมีผลต่อการเติบโตของ GDP ไม่น้อยกว่า 0.06%
“ผมเชื่อว่ามาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ที่ออกมาจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะมาตรการด้านสินเชื่อและมาตรการลดหย่อนภาษีให้กับผู้ประกอบการสำหรับบ้านบีโอไอทำให้คนไทยมีบ้านที่มีคุณภาพได้มากขึ้น แอล.พี. เอ็น.ฯ พร้อมสนับสนุนมาตรการของภาครัฐโดยเฉพาะโครงการบ้านบีโอไอ” อภิชาติ กล่าว
ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ หรือ REIC ให้ความเห็นว่า มาตรการกระตุ้นอสังหาฯที่ขยายสิทธิประโยชน์ให้กลุ่มที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท นับว่าเป็นมาตรการที่ตอบโจทย์การกระตุ้นอย่างเด่นชัด เนื่องจากเป็นการดึงกำลังซื้อกลุ่มที่มีศักยภาพสูง

ทั้งนี้ จากการสำรวจตลาดที่อยู่อาศัย 27 จังหวัดทั่วประเทศพบว่า ณ สิ้นปี 2566 มีที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 7.5 ล้านบาท เหลือขายในตลาด 268,000 หน่วย คิดเป็นสัดส่วน 87% ของหน่วยเหลือขายทั้งหมด มีมูลค่า 911,000 ล้านบาท ดังนั้น มาตรการรอบนี้คาดว่าสามารถดึงดูดกำลังซื้อใหม่ ๆ ราคา 3-7 ล้านบาทได้มากขึ้นช่วยชดเชยกำลังซื้อบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ที่ได้รับการกระตุ้นต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว แต่มีปัญหากู้ไม่ผ่านสูงมากในปัจจุบัน
นอกจากนี้ การที่รัฐบาลออกมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) วงเงินรวม 30,000 ล้านบาท นับว่าตอบโจทย์ผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางที่ส่วนใหญ่จะซื้อที่อยู่อาศัยไม่เกิน 3 ล้านบาท ให้สามารถมีกำลังซื้อที่อยู่อาศัยและเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น
“มาตรการกระตุ้นอสังหาฯรอบนี้ กระตุ้นฝั่งดีมานด์ในวงกว้าง น่าจะสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ และภาพรวมเศรษฐกิจประเทศด้วย” ดร.วิชัยกล่าว
นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน โอฬาร จันทร์ภู่ ให้ความเห็นว่า ตลาดบ้านสร้างเองที่มีมูลค่าตลาดรวมปีละ 2 แสนล้านบาท โดยลูกค้าที่สร้างบ้านบนที่ดินตัวเอง จากเดิมที่ไม่เคยได้รับสิทธิประโยชน์จากมาตรการรัฐมาก่อน แต่รอบนี้สามารถนำมูลค่าสร้างบ้านมาขอลดหย่อนภาษีสูงสุด 1 แสนบาท เท่ากับลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ของมาตรการรัฐครั้งสำคัญ
“มาตรการบ้านสร้างเองให้เวลาลดหย่อนภาษี 1 แสนบาทนาน 2 ปี เป็นโอกาสที่ดีของผู้บริโภคที่จะสามารถตัดสินใจได้เร็วขึ้น สิ่งที่สมาคมรับสร้างบ้านต้องไปดำเนินการต่อคือการทำความเข้าใจให้กับลูกค้า เพราะสิทธิลดหย่อนภาษีมีเงื่อนไข จะต้องทำสัญญาสร้างบ้านกับบริษัทรับสร้างบ้านที่ปฏิบัติตามกฎหมาย มีการจดทะเบียนเข้าระบบภาษีอย่างถูกต้องเท่านั้น ขณะเดียวกันจะมีการหารือเพื่อจัดกิจกรรมการตลาดร่วมกับสมาชิกสมาคมต่อไป” โอฬารกล่าว
มาตรการฯ ดันเศรษฐกิจโต 1.7-1.8%
พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่ามาตรการกระตุ้นภาคอสังหาฯ จะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ทั้งห่วงโซ่อุปทานการผลิต (Supply Chain) ส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศ อันจะก่อให้เกิด การจ้างงาน การผลิต รวมถึงอาจก่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งจะส่งผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาพรวม
นอกเหนือจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวแล้ว พรชัย กล่าวว่า ยังมีประเด็น การพิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการถือครองที่อยู่อาศัยของชาวต่างชาติ ซึ่งมีความสำคัญ และเกี่ยวข้องกับวิสัยทัศน์ Thailand Vision ในการยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก ที่มีเป้าหมายในการดึงดูดนักลงทุนและผู้มีความเชี่ยวชาญพิเศษที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมแห่งอนาคตให้มาลงทุนในประเทศไทย รวมถึงการปรับกระบวนการทางกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการถือครองทรัพย์สิน ดังนั้น คณะรัฐมนตรี จึงได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น ไปดำเนินการพิจารณา ศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินการซึ่งจะได้นำเสนอกลับมาให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
พรชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการดังกล่าวข้างต้นช่วยจะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ทั้งห่วงโซ่อุปทานการผลิต (Supply Chain) ส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศ อันจะก่อให้เกิด การจ้างงาน การผลิต รวมถึงอาจก่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งจะส่งผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาพรวม จะมีผลถึง 31 ธ.ค. นี้ คาดกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประมาณ 2,000 ล้านบาท
“การดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ครั้งนี้ กระทรวงการคลังประเมินว่า จะช่วยให้เพิ่มมูลค่าการซื้อขายอสังหาฯ ได้ประมาณ 8 แสนล้านบาท และมีการลงทุนในอสังหาฯ อีก 4-5 แสนล้านบาท และยังมีผลต่อการกระตุ้นการใช้จ่าย 1.2 แสนล้านบาท จากมาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้ที่ต้องการปลูกสร้างบ้าน ซึ่งทั้งหมดจะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อีกประมาณ 1.7-1.8% โดยคาดว่าจะทำให้จีดีพีไทยปี 2567 ขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่า 4%” โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าว
ที่มาของข้อมูล : https://www.mof.go.th
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : https://bangkokx.me/housing-price-07022024/

Editor's Pick
